DDNS หรือ Dynamic DNS คือ ระบบจับคู่ระหว่าง IP Address ของผู้ใช้อินเตอร์เน็ตที่ได้รับมาจากผู้ให้บริการ (ISP) กับชื่อที่จำง่าย (Hostname)
เราใช้อินเตอร์เน็ตได้อย่างไร?
การที่เราสามารถใช้อินเตอร์เน็ตได้จากที่บ้าน หรือออฟฟิศ มีเบื้องหลังการทำงานคือผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตต่อจากนี้เราจะเรียกแทนว่า ISP แจก IP Address ให้กับเราที่เป็นผู้ใช้บริการโดย IP Address ชุดหนึ่งที่ได้รับมาจาก ISP จะทำหน้าที่คล้ายกับเลขที่บ้านที่ใช้ระบุว่าผู้ใช้อินเตอร์เน็ตเป็นใคร แต่ปัญหาในปัจจุบันคือบนโลกมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตอยู่มาก IP ที่มีจึงไม่เพียงพอที่จะแจกให้กับผู้ใช้ทุกคน
ด้วยจำนวนผู้ใช้บริการที่เพิ่มขึ้นทุกวัน ISP จึงแก้ปัญหาด้วยการแจก Private IP Address ให้กับผู้ใช้บริการแทน Public IP Address
ISP ในไทยแต่ละรายมี Public IP Address (IPv4) อยู่ในมือกันเท่าไหร่?
ข้อมูลนี้สามารถบอกได้ว่า ISP แต่ละรายสามารถให้บริการลูกค้าที่ต้องการ Public IP Address ได้สุงสุดเท่าที่จำนวนถือครอง แต่ข้อมูลนี้ไม่ได้สะท้อนถึงศักยภาพของโครงข่าย (ไม่เอามาเกี่ยวกันนะ)
- TRUE INTERNET Co.,Ltd. – 2,214,144 IPs
- True Online – 1,379,072 IPs
- TOT Public Company Limited – 1,286,144 IPs
- JasTel Network International Gateway – 1,010,432 IPs
- Triple T Broadband Public Company Limited – 697,344 IPs
- CS LOXINFO PUBLIC COMPANY LIMITED – 377,856 IPs
- SBN-IIG/AWN-IIG transit provider – 374,784 IPs
- AIS Fibre – 304,128 IPs
- UNINET-TH – 298,240 IPs
- The Communication Authoity of Thailand, CAT – 286,720 IPs
อ้างอิงจาก IPINFO ณ วันที่ 15 มิถุนายน 2566
ความแตกต่างระหว่าง Private IP กับ Public IP
Private IP และ Public IP ถูกกำหนดตามมาตรฐานที่ระบุโดย IANA (Internet Assigned Numbers Authority) ก่อนอื่นต้องเข้าใช้ก่อนว่าบนโลกอินเตอร์เน็ตติดต่อกันผ่าน Public IP Address การที่ผู้ใช้บริการได้ Private IP Address มาจะสามารถติดต่อกันได้ไหม? คำตอบคือขึ้นอยู่กับว่าจะติดต่อกับอะไร หรือใคร? ถ้าเป็นการใช้งานอินเตอร์เน็ตทั่วไปอย่าง ท่องเว็บ คุยแชท สามารถทำได้ปกติ ไม่เป็นปัญหา
แต่ถ้ามีการใช้งานที่ซับซ้อนขึ้นมาอย่างต้องการติดต่อกับ Smarthome Server / NAS (Network Attached Storage) หรือเซิร์ฟเวอร์กล้องวงจรปิดภายในบ้านจะไม่สามารถทำได้ ซึ่ง Private IP addresses ถูกกำหนดไว้สำหรับการใช้งานภายในเครือข่ายส่วนตัว และไม่สามารถเข้าถึงได้โดยตรงจากอินเทอร์เน็ต มี 3 ช่วง IP สำหรับการใช้งานภายใน
IPv4
- 10.0.0.0 ถึง 10.255.255.255 (ช่วง 10.0.0.0/8)
- 172.16.0.0 ถึง 172.31.255.255 (ช่วง 172.16.0.0/12)
- 192.168.0.0 ถึง 192.168.255.255 (ช่วง 192.168.0.0/16)
IPv6
- fd00::/8: สำหรับ Unique Local Addresses (ULA) ซึ่งเป็น IPv6 สำหรับเครือข่ายภายใน
แต่! เคยมีผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตท้องถิ่นบางรายเอา IP ที่อยู่ในช่วง Public มาแจกเป็นวง Private เคสที่มีโอกาสพบได้ง่ายมักเกิดในบริษัทที่ต้องการอัพเกรตระบบ Network ซื้อเราเตอร์คุณภาพสูงมา แต่ผู้ติดตั้งอาจจะผิดพลาด หรือไม่ทราบช่วงของ Private IP ที่ถูกต้อง
ลองเช็กกันดูว่า IP Address ของคุณเป็น Private IP หรือ Public IP
ที่อยู่ IP ของคุณ
ถ้าคุณได้ IP ที่มีรูปแบบประมาณนี้ 50.10.5.150 แล้วไม่ได้อยู๋ในช่วงที่กล่าวมาข้างต้นจะเป็น Public IP แต่ไม่ต้องตกใจถ้าคุณได้ IP ที่มีรูปแบบประมาณนี้ 2403:6200:8956:5cc1:146d:de46:c20b:d3e1 มันคือ IPv6 ที่เป็นมาตารฐานใหม่ที่มาแก้ปัญหา IPv4 ไม่เพียงพอต่อการใช้งาน ทุก ISP ในไทยก็เริ่มใช้กันบ้างแล้ว กับผู้ใช้ทั่วไปที่ไม่ได้มีการใช้งานเน็ตเวิร์คที่ซับซ้อน จากเดิมบางจะใช้การแจก Private IPv4 สังเกตง่ายๆส่วนใหญ่จะขึ้นต้นด้วย 10.xxx.xxx.xxx
อย่างไรก็ตามถ้าคุณมีอุปกรณ์ที่มีความจำเป็นต้องใช้ Public IPv4 แต่คุณได้ Private IP หรือ IPv6 มาสามารถโทรบอกผู้ให้บริการ หรือ ISP ได้
ยกตัวอย่าง 4 ค่ายใหญ่จากประสบการณ์
- 3BB และ True Online โทรหา Call Center ได้เลยแล้วบอกว่า “ขอปิด NAT”
- AIS แพคเกจพื้นฐานจะไม่ได้อยู่แล้วขอปิดก็ไม่ได้ เดิมจะมีให้จ่าย On-Top 200 บาทต่อเดือน หรืออัพเกรดแพคเกจไปเลย (ต้องไปดูรายละเอียดกันเองอันนี้เปลี่ยนบ่อย)
- NT ที่เราเจอมาจะได้ Public IP เลย
ทั้งนี้จะ Public หรือ Private ก็ใช้งานพื้นฐานได้เหมือนกันหมด ถ้าไม่มีความจำเป็นต้องใช้จริงๆ ก็ไม่ต้องสนใจ ไม่เกี่ยวกับความเร็วในการในงาน
ถ้าตั้ง Private IP นอกเหนือจากช่วงที่กำหนด แล้วไปใช้ช่วงของ Public IP จะเป็นอย่างไร?
ให้ตอบสั้นๆก็คือเข้าเว็บไซต์ หรือใช้บริการที่ไอพีตรงกันไม่ได้ เพื่อให้เห็นภาพเราจะยกตัวอย่างการเข้า Facebook ในรูปด้านล่างนี้ โดยที่เรา Ping ไปที่ facebook.com เปรียบเสมือนการเข้าใช้ Facebook ผ่านหน้าเว็บไซต์
ขั้นตอนการทำงานคือ เราต้องการไป Facebook แต่ไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน เราจึงไปที่สถานีขนส่ง (Router) ที่มีบริการรถทางไกล และบริการรถในพื้นที่ใกล้เคียง สถานีขนส่งที่ไม่รู้ที่อยู่จึงไป ถามคนกลาง (DNS Server) ที่เก็บที่อยู่ไว้จึงตอบที่อยู่กลับมาว่า 157.240.7.35 หลังจากที่สถานีขนส่งรู้ที่อยู่แล้ว จึงพาเราไปใช้บริการรถทางไกลเพื่อไปที่ Facebook
ต่อมาถ้าไอพีที่เน็ตเวิร์ควงที่เราใช้ตรงกันกับ Facebook ตัวอย่างเช่นบ้านเราใช้ 157.240.7.0-157.240.7.255 (ช่วง 157.240.7.0/24)
ในเคสเดียวกัน เราต้องการไป Facebook ไปที่สถานีขนส่ง (Router) สถานีขนส่งไปถามคนกลาง (DNS Server) ที่เก็บที่อยู่ไว้จึงตอบที่อยู่กลับมาว่า 157.240.7.35 หลังจากที่สถานีขนส่งรู้ที่อยู่แล้ว จึงพาเราไปใช้บริการรถในพื้นที่ใกล้เคียง ปัญหาเริ่มตั้งแต่ตรงนี้ เราที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวก็ไปตามสถานีขนส่งบอก แต่!! เมื่อไปถึงที่หมายปรากฏว่า ผิดที่ ดันไปส่งเราที่ Printer ที่มีที่อยู่ 157.240.7.35 เหมือนกันในพื้นที่ใกล้เคียง หรือบางทีถ้าไม่มีอะไรอยู่ที่อยู่นั้นสถานีขนส่งก็จะบอกว่าไม่มีไปไม่ได้ เราก็งงเลยทีนี้
อย่างไรก็ตามโอกาสที่จะเกิดขึ้นอาจดูเหมือนน้อย แต่แค่ Facebook เองมีไอพีที่ใช้เป็นหมื่นไอพี สำหรับบริการของ Facebook ยังไม่รวมเจ้าอื่นที่ถือครองอยู่ไม่น้อยอย่าง Google, Twitter, LINE และเจ้าอื่นๆ ที่เราใช้กันในชีวิตประจำวัน
DDNS (Dynamic DNS) คืออะไร?
ผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตที่ไม่ได้ใช้งาน Static IP Address ทุกครั้งที่ เปิด-ปิด เราเตอร์ หรือ Reboot จะได้รับ IP Address ใหม่ทำให้เป็นการยากที่จะติดต่อเข้ามาหาอุปกรณ์ภายในบ้าน หรือออฟฟิศ จึงมีบริการที่เข้ามาช่วยให้ง่ายขึ้นอย่าง DDNS (Dynamic DNS) โดยผู้ให้บริการจะมี DNS Server ที่คอยจำ IP Address ใหม่เสมอส่วนผู้ใช้บริการจำเป็นต้องคอยบอก IP Address ใหม่ให้ทราบด้วย DDNS Client ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้เราเตอร์ในการทำหน้าที่นี้ แต่นอกจากเราเตอร์แล้วยังสามารถใช้อุปกรณ์อื่นได้เช่น คอมพิวเตอร์(ถ้าผู้ให้บริการมีโปรแกรมให้ดาวน์โหลด) หรือเครื่องบันทึกกล้องวงจรปิด โดยที่อุปกรณ์นี้จะทำงานตลอดเวลา 24 ชั่วโมง 7 วัน
การใช้งาน DDNS (Dynamic DNS) ผู้ใช้งานเพียงแค่ตั้งชื่อ Hostname เช่น myhome.dyndns.org ตัว DDNS Client ก็จะส่ง IP Address ณ เวลานั้นไปให้ DNS Server จำ เมื่อต้องการเข้ามาเน็ตเวิร์คภายในบ้านเพียงแค่เข้าผ่าน Hostname ไม่ว่า IP Address จะเปลี่ยนไปกี่ครั้งก็ไม่มีปัญหา
ประโยชน์ของ DDNS
- คงค่าชื่อโดเมน คุณสามารถใช้ชื่อโดเมนคงที่เพื่อเข้าถึงเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของคุณ โดยไม่จำเป็นต้องจดจำที่อยู่ IP ที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
- เข้าถึงเครือข่ายได้ง่าย ไม่ว่าที่อยู่ IP ของคุณจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ก็ตาม เมื่อคุณใช้ DDNS ผู้ใช้งานสามารถเชื่อมต่อกับคุณได้โดยใช้ชื่อโดเมน
- การเข้าถึงเซิร์ฟเวอร์ส่วนตัว DDNS ช่วยให้คุณสามารถเรียกใช้บริการภายในเครือข่ายของคุณ เช่นเซิร์ฟเวอร์ FTP เว็บเซิร์ฟเวอร์ หรือกล้องวงจรปิด เข้าถึงผ่านอินเทอร์เน็ตได้โดยง่ายไม่จำเป็นต้องทำการตั้งค่าที่อยู่ IP ใหม่เมื่อมีการเปลี่ยนแปลง
DDNS ทั่วไปต่างกับของ ISP อย่างไร?
การใช้งาน DDNS ของ ISP ที่ผู้ใช้บริการได้ Private IP Address มาส่วนใหญ่จะจำกัดที่ 10 พอร์ต และกำหนดหมายเลขพอร์ตมาให้ ไม่สามารถแก้ไขได้ ทำให้มีข้อจำกัดในหลายอุปกรณ์ที่มีพอร์ตมาตาฐานในการเชื่อมต่อ ผู้ใช้บริการจำเป็นต้องเข้าใจด้านเน็ตเวิร์คระดับหนึ่งสำหรับการ Forward พอร์ตภายนอก และพอร์ตภายใน
ผู้ให้บริการ DDNS ที่เป็นที่นิยม
- DynDNS มีค่าบริการรายปี แพคเกจเริ่มต้นประมาณ 3,000 บาท ได้ 30 hostnames
- NO-IP มีให้ใช้ฟรี 1 hostname ต้อง Renew ทุก 30 วัน